การมีธุรกิจที่มั่นคงเติบโตอย่างต่อเนื่องไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากหากผู้ประกอบการเข้าใจหลักในการทำธุรกิจ เรียนรู้ ปรับปรุง พัฒนาแก้ไขธุรกิจอยู่ตลอดเวลา เช่นเดียวกันการมีฐานลูกค้าที่มั่นคงหรือการรักษาฐานลูกค้าเดิมเพิ่มฐานลูกค้าใหม่ได้อย่างสม่ำเสมอก็กลายเป็นอีกแนวทางในการทำให้ธุรกิจของเราเติบโตอย่างต่อเนื่อง 

 

ดังนั้นผู้ประกอบการอาจจะต้องทำความรู้จักและมีความเข้าใจ segmentation สำหรับวางแผนศึกษาพฤติกรรมของลูกค้า เพื่อรักษาลูกค้าเดิมหรือเพิ่มลูกค้าใหม่ ๆ เข้ามาในธุรกิจของเรา ถึงตรงนี้หลายท่านอาจยังสงสัยอยู่ว่า segmentation คืออะไร มีความเกี่ยวข้องและความสำคัญต่อการทำธุรกิจ และช่วยให้เรามีลูกค้าที่มั่นคงได้อย่างไร วันนี้เรามีคำตอบดี ๆ มาฝากทุกท่านกัน

 

ทำความรู้จักการแบ่งตลาด Segmentation คืออะไร

Segmentation คือการแบ่งส่วนตลาด หรือการจัดแบ่งกลุ่มลูกค้า ผู้บริโภคตามลักษณะเฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อให้สินค้าหรือบริการของเราตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าได้มากที่สุด เพราะเราไม่สามารถรู้ว่าลูกค้าหรือกลุ่มเป้าหมายแต่ละคนต้องการอะไร ดังนั้น segmentation จึงกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการจัดแบ่ง ทำนายพฤติกรรมของกลุ่มลูกค้า เพื่อให้สินค้าหรือบริการเหมาะสมและตอบโจทย์กับกลุ่มลูกค้ามากที่สุด

 

หลักในการจัดแบ่งตลาด Segmentation มีอะไรบ้าง

ตามหลักของ segmentation สามารถแบ่งออกเป็น 4 ประเภทตามข้อมูลความต้องการของกลุ่มลูกค้าดังต่อไปนี้

  1. การแบ่งส่วนตลาดด้วยหลักประชากรศาสตร์ (Demographic Segmentation) หรือเป็นการแบ่งโดยพิจารณาต่างความแตกต่างของกลุ่มลูกค้าอาทิ เพศ อายุ รายได้ สถานภาพการสมรส ขนาดครอบครัว ระดับการศึกษา สัญชาติ และ ศาสนา เป็นต้น
  2. การแบ่งส่วนตลาดด้วยหลักภูมิศาสตร์ (Geographic Segmentation) ส่วนนี้เป็นการแบ่งตามลักษณะทางภูมิศาสตร์เช่น จังหวัด อำเภอ เขต ประเทศ เมือง เป็นต้น ช่วยให้เข้าใจในเรื่องลักษณะความต้องการ การดำรงชีวิต วัฒนธรรมเป็นต้น
  3. การแบ่งส่วนการตลาดด้วยหลักพฤติกรรมศาสตร์ (Behavioral Segmentation) เป็นหลักจัดส่วน segmentation ตามลักษณะพฤติกรรมการใช้ชีวิต การดำรงชีวิตของลูกค้าอาทิ lifestyles วิธีการเลือกซื้อสินค้า การช็อปปิ้ง การเข้าถึงเว็บไซต์ต่าง ๆ เป็นต้น   
  4. การแบ่งส่วนตลาดด้วยหลักจิตวิทยา (Psychographic Segmentation) ส่วนสุดท้ายของ segmentation มีความคล้ายกับการแบ่งแบบ Demographic แต่อาจมีความละเอียดกว่าในเรืองของอารมณ์ความรู้สึกของลูกค้าเข้ามาเกี่ยวข้องเช่น ความชื่นชอบ แรงจูงใจ ความต้องการในการซื้อสินค้านั้น ๆ เป็นต้น

 

Segmentation จึงกลายเป็นหลักสำคัญในการทำธุรกิจช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าใจลักษณะพฤติกรรมความต้องการของสินค้าหรือบริการของลูกค้ามากยิ่งขึ้น ทำให้การผลิตสินค้าบริการนั้นๆเข้าถึง ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าได้อย่างเหมาะสม รวดเร็ว ลูกค้ามีความพึงพอใจต่อสินค้าและบริการนั้น ๆ จึงกลายเป็นกลยุทธ์สำคัญในการรักษาฐานลูกค้าเดิมและเพิ่มฐานลูกค้าใหม่ ๆ ให้เข้าถึงธุรกิจของเรามากขึ้น